เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ที่ห้องประชุม หนังสือพิมพ์ข่าวสด กลุ่มแคร์ จัดงานระดมความคิดเห็น ผลกระทบของ Covid 19 ต่อภาคการท่องเที่ยว โดยมีผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวเข้าร่วมเวทีระดมความคิดเห็น
ทั้งนี้ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ แกนนำกลุ่มแคร์ กล่าวว่า รายได้จจากการท่องเที่ยว 13% ของจีดีพี ถ้าแบ่งตัวเลขให้ดูว่าครึ่งหลังของปีนี้ที่ ททท.ประเมินว่า นักท่องเที่ยวจะเข้ามาบ้าง ส่วนที่เสียหายจะไม่ได้จากนักลงทุนต่างประเทศ จะอยู่ 1.16 ล้านล้านบาท ในส่วนนักท่องเที่ยว 3.8 แสนล้านบาท ครึ่งปีหลังจะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว 1.54 ล้านล้านบาท รายได้ของคนไทยหารด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อให้ดูว่าถ้าให้นักท่องเที่ยวไทยทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในกรณีของภูเก็ต การท่องเที่ยวของคนไทยเป็นแค่ 12% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น แม้เราอยากจะสนับสนุนไทยเที่ยวไทยก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเอามาทดแทนการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้
ทั้งนี้ เอารายได้ของการท่องเที่ยว 4 จังหวัดที่สำคัญ นำรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติหารด้วยประชากรในจังหวัดนั้นๆ ภูเก็ตรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เท่ากับ 798,575 บาท กทม.830,000 บาท สมุยรายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศต่อประชากร 1 คน 621300 บาท และพังงา 268,240 บาท ภูเก็ต พังงา สมุย คือ 3 ที่ที่นักท่องเที่ยว 1 รายให้รายได้กับประชากรต่อหัวเป็นแสนๆ บาท
ททท.รับท่องเที่ยวครึ่งปีหลังยังเหนื่อย
นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ความพยายามของทุกหน่วยงานที่พยายามจะบู๊ธการท่องเที่ยวให้กลับมา การพึ่งหวังให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมา แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมีความจำเป็นในการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด จากนี้ไปจนถึงปลายปีเหนื่อยมาก เป็นไปได้น้อยเหลือเกิน สิ่งที่มาทดแทนได้คือไทยเที่ยวไทย แต่เราคงไม่สามารถนำรายได้ของการท่องเที่ยวไทยมาครอบคลุมทั้งหมดทำได้เพียง 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะช่วงพีคของการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาทต่อปี เป็นการเที่ยวไทย 1 ล้านล้าน เป็นเพียงการผ่อนหนักให้เป็นเบา
สิ่งที่ ททท.พยายามที่สุด ในฐานะที่ทำการตลาด ทำอะไรไม่ได้มาก สิ่งที่ทำคือทำงานร่วมกับภาคเอกชนปีนี้ควรจะเป็นปีที่ดีของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ถ้าไม่มีโควิด-19 จะมาฉลองครบ 60 ปีของการท่องเที่ยวไทย จะเชิญบุคคลสำคัญของทั่วโลกมาท่องเที่ยวไทย แต่พอเกิดการปิดล็อกประเทศจีนหลังจากตรุษจีน ภาพที่วางไว้สลายในพริบตา
2 ปัจจัยโควิดฉุดท่องเที่ยว
ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังเข้าไม่ถึง Soft loan ททท.พยายามประสานทุกรูปแบบ ถ้าเราผ่านจุดนี้ไปได้ สิ่งที่เผชิญใหม่คือ 1.เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ยังไม่ทราบว่าจะคุมการแพร่ระบาดได้เมื่อไหร่ อย่างไร และความเคลื่อนไหวของโควิด ยังผันผวนมาก การรับมือวิกฤตของ ททท.ปรับแผนกันทุกสัปดาห์ เพราะแม้ประเทศเราควบคุมได้ดี แต่ประเทศที่เราหวังพึ่งยังคุมสถานการณ์ไม่ได้ ดังนั้นความหวังอยู่ที่คนไทย
2.พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเปลี่ยนแปลงไปมาก เราเห็นหลายๆ เรื่องที่ ททท.พยายามเข้าใจให้ได้ เพราะคนจะลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย เลือกท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มกับคนที่ไว้ใจ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน จะไม่มีรถทัวร์ขนาดใหญ่ขนนักท่องเที่ยวแบบมีไกด์นำเที่ยวอีกแล้ว
ขณะที่เรากำลัง work from home เราเห็นโอกาสธรรมชาติกลับมาดีมาก ถ้านักท่องเที่ยวกลับมา จำเป็นกับสิ่งแวดล้อม ต้องไม่ก่อมลภาวะให้ตามมา เอาความเจ็บปวดที่มีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน เป็นบทเรียน ต้องสื่อสารกับคนไทยเพิ่มเติมไปด้วย และต่อจากนี้ไปนักท่องเที่ยวคำนึงถึงความปลอดภัย โควิด-19 ทำให้เราเปลี่ยนแปลงและรู้เยอะ นำไปสู่การปรับตัวที่ดี ททท.ไม่เคยคิดว่าจะคุยกับกรมควบคุมโรค ที่เป็นพาร์ทเนอร์ทางยุทธศาสตร์ เทคโนโลยี นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ท่องเที่ยวด้วยการใช้สมาร์ทโฟน การโหลดแอปไทยชนะยังต้องมีต่อไป แม้เป็นความยุ่งยากในตอนต้น แต่ก็จำเป็น
แนะท่องเที่ยววิถีใหม่
นพ.ธนพัฒน์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเกิดโควิด-19 เกิดขึ้นบนความไม่พร้อมของทุกฝ่าย ตำราที่ใช้รับมือแทบจะโยนทิ้งไปนอกหน้าต่าง การปิดประเทศหลายประเทศไม่เคยทำในการควบคุมโรคติดต่อ จนถึงตอนนี้เรามาถึงจุดที่ควบคุมโรคในประเทศได้แล้ว ตอนนี้ถามว่า มี 2 ค่าย ค่ายแรกบอกไม่มีแล้ว อีกค่ายหนึ่งบอกว่ายังมีอยู่ แต่เชื้อไม่แสดงตัว ที่ไม่ไปพบแพทย์ สถานการณ์ขณะนี้ดีมากแล้ว
แต่ระยะต่อไปในการควบคุมโรค เป้าหมายไม่ให้มีผู้ป่วยในประเทศอีกเลยจนกว่าจะมีวัคซีน ซึ่งเป็นไปได้ค่อนข้างยาก อีกเป้าหมาย ควบคุมการระบาด ทำให้เราเจ็บปวดน้อยกว่าด้วย ทิศทางต่อไป ทิศทางปฏิบัติต่อไปอย่างไร ที่ดีและเหมาะสม เราจะป้องกันการระบาด
ยังไงก็กลับมามีผู้ป่วยแน่นอน แม้วันที่เรามีวัคซีนก็ยังมีโอกาสกลับมาแพร่ระบาด เพราะเราเชื่อว่าจะไม่ได้รับวัคซีนทุกคนในประเทศไทย โอกาสที่อยู่กับมันและควบคุมให้ได้จะมีโอกาสสูง ดังนั้น เราไม่ควรเจ็บซ้ำอีก ในอนาคต ไม่อยากให้สิ่งที่เราทำสำเร็จแล้วกลับไปวุ่นวายเหมือนเดิม ต้องทำให้ความเสี่ยงต่ำที่สุด แม้แต่การเดินทางเข้าประเทศก็ทำให้เกิดความเสี่ยงต่ำได้ เช่น การท่องเที่ยว สามารถเลือกมาตรการอย่างชาญฉลาดอย่างไร travel bubble ถ้าเรากลับไปรับนักท่องเที่ยวคงไม่เหมือนเดิม ไม่เอานักท่องเที่ยวรวมกับคนไทย ถ้ามีระบบการจัดการให้ดี มีวิธีการขายแบบใหม่ เน้นการท่องเที่ยวปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพก็สามารถทำได้ในระดับหนึ่ง
เร่ง travel bubble แก้วิกฤติการบิน
ด้านนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า สายการบินเปรียบเป็นเหมือนต้นน้ำ พาคนมา มีเครื่องบิน 60 ลำ ปิดประเทศหยุดทั้งหมด ที่เปิดการบินเราบินแค่ 5 ลำ เฟสที่สอง บิน 25 ลำ ถามว่าที่เหลืออยู่ 60 ลำจะบินได้ถึงไหน 1 ในสามเป็นนักท่องเที่ยวไทย แต่ 2 ใน 3 นักท่องเที่ยวต่างชาติ ถ้าตัดส่วนนี้ออกไปเหลือแค่ 30% ถ้ายังไม่มีมาตรการเปิดประเทศ หรือ travel bubble ต้องทำให้การท่องเที่ยวในประเทศเกิดขึ้นให้ได้ แม้เป็นแค่บรรเทาปัญหา แต่เป็นมาตรการที่รัฐจะต้องคิด
“เราพออยู่ได้ รอ soft loan มา 3 เดือน ยังไม่ถึงไหน เครื่องบินขนาดใหญ่ที่บินระหว่างประเทศจะทำอย่างไรดี ปีนี้นักท่องเที่ยวในประเทศไม่เกิน 30 ลำ ที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศคือ 0 ให้ สธ. ถ้ายังกล้าๆ กลัวๆ เราจะไม่รู้เลยมาตรการการเปิดประเทศจะเป็นอย่างไร และดู list ของสนามบิน ยินดีให้เราเข้าโดยเขามีมาตรการชัดเจนต้องมีการตรวจ หรือ อยู่ในประเทศ 14 วัน แต่เราไม่มีมาตรการเป็นรายประเทศอย่างนั้น นักธุรกิจ หรือ คนที่มารับการรักษาโดยมีประวัติทางการแพทย์อยู่แล้ว เนขั้นแรกที่เราต้องคิด” นายธรรศพลฐ์ กล่าว
โรงแรมจ่อปิดถาวร ถ้าไม่เปิดประเทศ
นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ถ้าเรายังไม่มีการผ่อนคลายมีมาตรการที่ชัดเจนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาบ้าง โรงแรมปิดถาวรไปเลยจำนวนหนึ่งน่าจะเกิน 20% เพราะเปิดมาไม่มีรายได้มา cover รายจ่าย อยู่ในสถานะที่ลำบากมากจริงๆ ถ้ารัฐบาลยังไม่มีโอกาสยื่นมือมาในธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวคงไม่เป็นเส้นเลือดของประเทศอีกต่อไป เพราะกลับมาใหม่ก็ไม่มีศักยภาพเต็มร้อย และการลงทุนโรงแรมในอนาคตยังไม่เห็นหนทางที่ดี ส่วนมาตรการ soft loan ได้แต่อาจไม่ตรงวัตถุประสงค์ ถ้าได้จะไม่ได้ในอัตราดอกเบี้ย 2% ส่วนธุรกิจจะไปได้ไกลแค่ไหนขึ้นอยู่ศักยภาพ อยู่กับผลประกอบการ
ร้านอาหารเข้าไม่ถึง Soft loan
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตคารไทย กล่าวว่า ร้านอาหารไม่มีระบบบัญชี เมื่อมี soft loan ก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพราะไม่ได้จดทะเบียนการค้า นอกจากนี้ คนที่จากต่างจังหวัดมาเปิดร้านอาหารง่ายมาก รัฐบาลน่าจะถือโอกาสนี้ให้คนต่างจังหวัดที่มา หาบเร่ แผงลอย ให้เขากลับไปทำงานในชนบท เงินที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาให้เขามีงานในต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารยังต้องการแรงงาน 8.5 ล้านคน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวกลับประเทศหมด ถ้าคนไทยไม่เลือกงาน
ธุรกิจกลางคืน วอนรัฐสนใจ
ด้านนายธนวัฒน์ ศรีสุข ตัวแทนธุรกิจกลางคืน แม้เป็นธุรกิจกลุ่มเล็กๆ แต่มีผลกระทบ มีสัดส่วน 7 ล้านคนในประเทศ หากรวมสมาชิกในครอบครัว 14 ล้านคน ไม่เคยมีสวัสดิการใดๆ เข้ามา และได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการไม่มีนักท่องเที่ยว เป็นธุรกิจที่โดนปิดก่อน และเปิดเป็นธุรกิจสุดท้าย ตั้งแต่เปิดกิจการมา ผู้ใช้บริการลดลง 70% มาตรการของรัฐก็เข้มงวด กว่าจะเปิดกิจการ 4 ทุ่ม เที่ยงคืนต้องปิด เวทีต้องเลิกแสดงแล้ว มีคำถามว่าชั่วโมงครึ่งจะจัดการอย่างไรดี
นอกจากนี้ ยังกระทบไปถึงนักร้อง เด็กเสิร์ฟ เด็กรับรถ เรื่องเงินกู้ Soft loan แบงก์ก็มองว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง เราเป็นเหมือนอะไรสักอย่างในสังคม แต่เมื่อคนดีใจอยากจัดปาร์ตี้ก็จัดที่สถานบันเทิง มีความทุกข์ก็ไปสถานบันเทิง จึงอยากฝากไปยังภาครัฐให้หันมามองธุรกิจภาคกลางคืน เพราะที่ผ่านมาคนกลางคืนก็ไม่เคยได้เงินเยียวยา
นายสุรวัช อัครวรมาส เลขาธิการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เราชุบชีวิตการท่องเที่ยว ต้องมีชีวิตอยู่ถึงจะชุบชีวิตขึ้นมาได้ ขณะนี้ภูเก็ตหนักที่สุด เพราะประชากรเขาน้อยอยู่แล้ว และพึ่งพาการท่องเที่ยวมากที่สุด ถ้าจะทำ travel bubble ก็ควรจะจับคู่กับ เฉินตู เพราะเมืองเฉินตู ชอบทะเล ให้เปิดเป็นจุดๆ แล้วค่อยทำประชาพิจารณ์จากคนในพื้นที่ โอกาสจะเกิดขึ้นสูง และค่อนข้างมั่นใจว่าการไปเปิดแต่ละจุดของจีนค่อนข้างมั่นใจว่ารัฐบาลจีนให้ชัด และเชื่อว่ารัฐบาลจีนจะช่วยเราแน่นอน
Airbnb หนุนท่องเที่ยวชุมชน
ด้านแอนนิต้า รอธ ตัวแทนจาก airbnb กล่าวว่า เรื่องแนวโน้มการเดินทางระดับโลกจะเปลี่ยนไป เดินทางใกล้ขึ้น และเดินทางธรรมชาติที่ไม่ค่อยเป็นเมือง และคนขาดความมั่นใจอย่างมาก มีการจองที่พักเพียง 3-5 วันก่อนเดินทาง แต่ปัจจุบันนี้คนค่อนข้างมั่นใจขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องเทรนด์การฟื้นฟูการท่องเที่ยว 60% นักท่องเที่ยวค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวไม่เกิน 500 กิโลเมตร และใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น กระแสการท่องเที่ยวในไทยก็หันมาค้นพบสิ่งท่องเที่ยวในประเทศใหม่ มีอัตราการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 13% และยินดีที่จะขับรถไปมากกว่านั่งเครื่องบิน เช่น พัทยา หัวหิน เพชรบุรี
สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงโควิด airbnb ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงหันไปหาการท่องเที่ยวชุมชนท้องถิ่น เปิดการสำรวจในสิ่งที่คนไม่ทราบมาก่อน และช่วยเหลือผู้ประกอบ SMEs ในชุมชน การท่องเที่ยวฟื้นกลับแน่นอน ขึ้นอยู่กับการจัดการการฟื้นกลับอย่างไร คนต้องการความหลากหลายมากขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าจะสร้างทางเลือกอย่างไร สิ่งที่ขาดไม่ได้คือผู้ประกอบการ SMEs จะสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไปได้
ชงโมเดล “ท่องเที่ยวไร้รอยต่อ”
นพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า ประโยชน์ของโควิด-19 คือ โซเชียลดิสรัปชั่นครั้งใหญ่ และจะอยู่ไม่ต่ำกว่า 2 ปี ดังนั้น โจทย์ของเราจะอยู่กับมันได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นจะติดกับ ในฐานะคนที่หาทางออกต้องมีวิธีคิดใหม่ เราจะใช้วิธีเดิมไม่ได้ ข้อห่วงใยที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้อยู่รอดซึ่งเป็นเรื่องของการเงิน กลุ่มแคร์เคยเสนอไว้โดยการอัดฉีดเงิน 2 ล้านล้านให้กับกลุ่ม SMEs ลดดอก ปลอดหนี้ 4 ปี และนายกฯ ก็พูดเรื่อง SMEs
กลุ่มแคร์เสนอว่า การท่องเที่ยวแบบไร้รอยต่อ เบื้องต้นต้องเจรจากับต่างประเทศ กำหนดมาตรการร่วมกัน เลือกประเทศที่ติดเชื้อน้อยและควบคุมโรคให้ดี ดีมานด์ของคนจีนยังมี ตัวแทนสถานทูตหลายประเทศเข้ามาเจรจากับรัฐบาล เลือกประเทศเหล่านั้นเจรจาเสียเลย เพราะกว่าจะเจรจาไปสู่การปฏิบัติ ใช้เวลา 2-3 เดือนอย่างเร็ว
โดยมีข้อตกลงสำคัญ ให้มีการตรวจด้วยวิทยาศาสตร์ PCR test ตรวจให้แน่ใจว่าคนที่ขอเดินทางเข้ามาไม่ติดเชื้อ เราเลือกจากประเทศที่ติดเชื้อน้อย และตรวจเชื้อก่อนมาซูปเปอร์เซฟอยู่แล้ว จนกระทั่งเข้าประเทศไทยสำหรับนักท่องเที่ยวมี alternative state quarantine ให้มีมาตรการทางการตรวจหาโรคเข้ามา จะใช้เรื่อง digital identity ในการยืนยันตัวตน ปัญหาสำคัญคือการ quarantine 14 วัน ถ้ามาจากประเทศที่ติดเชื้อน้อยและตรวจเรียบร้อยมาแล้ว ถ้าระยะความแม่นยำการหาเชื้ออยู่ใน 3 วัน หากจะใช้มาตรการ quarantine ก็สามารถลดระยะเหลือ 3 วันได้
ชงเปิดเกาะภูเก็ต รับนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ เปิดเกาะภูเก็ตเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจท่องเที่ยวเฉพาะ กำหนดมาตรการต่างๆ ข้อห่วงใยของรัฐหรือกลุ่มแพทย์ ไปใช้ที่เกาะภูเก็ต โดยให้การตรวจทั้งฝั่งผู้ให้พักและผู้ท่องเที่ยว เราต้องกล้าแหวกวงล้อม
(ต่อ)📍 Facebook Live "ระดมสมอง ฟื้นเศรษฐกิจ ชุบชีวิตท่องเที่ยว : Rescue Forum : Tourism"..มาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการทางออกจาก "มหาวิกฤต" นี้ด้วยกัน กับเรา #CAREคิดเคลื่อนไทย
โพสต์โดย CARE คิด เคลื่อน ไทย เมื่อ วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2020
July 11, 2020 at 05:46PM
https://ift.tt/305SclA
“กลุ่มแคร์ “ พบธุรกิจท่องเที่ยว ผงะโรงแรมเจ๊งเกิน 20 % ชงเปิด “ภูเก็ต” นำร่อง - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/3dXvwcw
Bagikan Berita Ini
0 Response to "“กลุ่มแคร์ “ พบธุรกิจท่องเที่ยว ผงะโรงแรมเจ๊งเกิน 20 % ชงเปิด “ภูเก็ต” นำร่อง - ประชาชาติธุรกิจ"
Posting Komentar